เวส สุนทรจามร หรือ ครูเวส นักประพันธ์เพลงที่มีผลงานแต่งทำนองให้กับวงสุนทราภรณ์ ร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูสุรัฐ พุกกะเวส เป็นจำนวนมาก เป็นครูเพลงที่มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงในวงการหลายคน เช่น วินัย จุลละบุษปะ, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ ธนิต ผลประเสริฐ เป็นต้น
เวส สุนทรจามร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2444 ที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มารดาชื่อ นางทองคำ สุนทรจามร บิดาเป็นทหาร ย้ายตามบิดาเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพ เรียนหนังสือที่วัดอนงคาราม พ.ศ. 2457 ขณะอายุได้ 13 ปี ก็สมัครเป็นทหารอยู่ที่ กรมทหารราบที่ 3 ซึ่งอยู่บริเวณกระทรวงกลาโหม และได้ฝึกหัดแตรวงอยู่กับครูฝึกชื่อ สิบตรีอั้น ดีวิมล และครูอั้นได้พาออกไปรับงานนอก เป่าแตรเพลงโฆษณารถแห่หนัง เป่าแตรหน้าโรงหนังก่อนหนังฉาย และเป่าเพลงเชิด เพลงโอด ประกอบภาพยนตร์
ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการยุบ ย้ายหน่วยทหาร จึงลาออกไปสมัครเป็นทหารในกองแตรวงทหารมหาดเล็ก จนกระทั่งถูกยุบวงเมื่อ พ.ศ. 2475 จึงไปเป็นนักดนตรีของวงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ ภายใต้การดูแลของพระเจนดุริยางค์ และเล่นดนตรีแนวแจ๊สกับ เรนัลโด ซีเกร่า บิดาของแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ในเวลาเดียวกันก็ตั้งคณะละครวิทยุ ชื่อ คณะสุนทรจามร ประพันธ์เพลงร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะกุล บันทึกเสียงวางจำหน่าย
พ.ศ. 2481 หลวงสุขุมนัยประดิษฐก่อตั้ง บริษัทไทยฟิล์มร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล จัดตั้งวงดนตรีประจำบริษัทเพื่ออัดเพลงประกอบภาพยนตร์ จึงมาชวนไปอยู่ด้วย โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง และมีโอกาสได้อัดเพลงยอดฮิตหลายเพลง เช่น เพลงบัวขาว, ลมหวน ของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์
เมื่อบริษัท ไทยฟิล์มเลิกกิจการ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ จึงชวนให้ไปอยู่ที่วงดนตรีลีลาศกรมโฆษณาการที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นผู้ช่วยหัวหน้าวง โดยหัวหน้าวงคือครูเอื้อ สุนทรสนาน ในเวลาต่อมา จึงเปลี่ยนเป็นวงสุนทราภรณ์
ครูเวส เกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2506 และลาออกจากวงสุนทราภรณ์ไปทำงานกับบริษัท ส่งเสียงตามสาย ในระหว่างนี้ได้แต่งเพลงร่วมกับ แก้ว อัจฉริยะกุล, สุรัฐ พุกกะเวส ให้กับห้างแผ่นเสียงและประกอบภาพยนตร์
ในโอกาสที่วงสุนทราภรณ์มีอายุครบ 25 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีรับสั่งถามถึงครูเวส สุนทรจามร และทรงแนะนำให้เล่นดนตรีต่อ ครูเวสจึงได้กลับมาร่วมงานกับสุนทราภรณ์อีกครั้ง และเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี จนอายุได้ 75 ปี จึงยุติบทบาทด้านการเล่นดนตรีลง แต่ยังคงแต่งเพลงเรื่อยมา
เมื่อ พ.ศ. 2526 กลุ่มลูกศิษย์ลูกหาของครูเวส ร่วมกันจัดงานฉลองวันเกิดครบ 7 รอบ 84 ปี ให้ในวันที่ 4 เมษายน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ แต่ครูเวสก็เสียชีวิตเสียก่อน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2526 ก่อนหน้าวันงานเพียงไม่กี่วัน หลังจากป่วยเป็นโรคปอดอักเสบเรื้อรังมานานหลายปี
ผลงานเพลงของครูเวสที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ เพลงสายลมครวญ, ริมฝั่งน้ำ, ดอกฟ้าร่วง, หงส์เหิร, สนต้องลม, ทาสน้ำเงิน, พรหมลิขิต, เงาอโศก, บุพเพสันนิวาส มาร์ชสภาราชินีฯลฯ